Toggle navigation
จากแนวปะการังสคาร์โบโร ถึงแนวปะการังตือจิ๋งกับบทเรียนการรับมือกับจีนในน่านน้ำทะเลตะวันออก
19/08/2019 | 07:22 GMT+7
Share :
ชาวเวียดนามเชื่อเสมอว่าอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และต้องได้รับการปกป้องโดยคนในชาติ และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติได้ แต่ไม่ควรพึ่งพาประเทศอื่น ๆ เป็นหลัก
บทนำ:
ในปี ค.ศ. 2009 จีนได้นำเสนอแผนที่เส้นประ 9 เส้น (nine-dash-line) และได้ประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลตะวันออกอย่างโจ่งแจ้ง  ในปี ค.ศ. 2012 จีนยังได้เข้ายึดครองพื้นที่แนวปะการังสคาร์โบโรซึ่งฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายครอบครองพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946  ในปี ค.ศ. 2014 จีนยังได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยการส่งแท่นสำรวจไห่หยาง 981 เข้ามายังพื้นที่ไหล่ทวีปของเวียดนาม  ในปี ค.ศ. 2019 จีนยังคงกระทำการล่วงละเมิดอธิปไตยทางทะเลของเวียดนามด้วยการส่งกลุ่มเรือสำรวจทางธรณีวิทยาทางทะเลที่ 8 เข้าไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของเวียดนาม  สำหรับในบทความนี้ท่านทูตเจืองเจี่ยวเซืองในฐานะนักการทูตและนักเจรจาที่มีประสบการณ์สูง  อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีโอกาสได้ประจำการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำฟิลิปปินส์ในห้วงเวลาที่ฟิลิปปินส์กำลังทำการฟ้องร้องจีนไปยังศาลโลก โดยท่านทูตเซืองได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของจีนในพื้นที่ทะเลตะวันออกและแนวทางการรับมือของประเทศต่าง ๆ  บทสัมภาษณ์นี้ได้ปรากฎในหนังสือพิมพ์ Trí Thức Trẻ ด้วยเนื้อหาดังต่อนี้

01. ความอันตรายที่กำลังไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ 

ก่อนอื่น เราต้องมองให้ออกถึงเบื้องหลังของการกระทำและเป้าหมายหลักของจีน  พวกเขากำลังต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจชั้นแนวหน้าของโลก และการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้นก่อนอื่นจีนจะต้องกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลให้ได้  กล่าวได้ว่าอาณาบริเวณทางทะเลที่มีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ที่พวกเขาคิดว่าจะต้องควบคุมเอาไว้ให้ได้ก็คือทะเลจีนตะวันออก (biển Hoa Đông) และทะเลตะวันออก (biển Đông) 

ด้วยเป้าหมายดังกล่าว จีนจึงต้องแสวงหากลวิธีต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ตนกลายเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และเข้าไปควบคุมพื้นที่ทะเลตะวันออกให้ได้  ในการนี้ จีนพร้อมที่จะกระทำทุกวิถีทางซึ่งพวกเขาคิดว่าเหมาะสม โดยมิได้คำนึงถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าจีนกำลังกระทำทุกรูปแบบเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนโดยไม่สนใจว่าการกระทำดังกล่าวจะถูกหรือผิด  

Đại sứ Trương Triều Dương: Từ Scarborough đến Tư Chính, nghĩ về bài học ứng xử với Trung Quốc ở Biển Đông - Ảnh 3.
ท่านทูตเจืองเจี่ยวเซือง “จีนพร้อมที่จะใช้ทุกกลวิธีที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสม โดยไม่สนใจกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อกฎหมายระหว่างประเทศ”

กล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์ของจีนเหนือพื้นที่ทะเลตะวันออกก็คือการบุกรุกทีละก้าวด้วยท่าทีที่เต็มไปด้วยความแข็งกร้าว  หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงจะพบว่า จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์เช่นนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 เมื่อได้ฉวยโอกาสในช่วงท้ายของการทำสงครามรวมชาติในเวียดนามเพื่อใช้กำลังอาวุธเข้าไปยึดครองพื้นที่หมูเกาะหว่างซา (Quần đảo Hoàng Sa) ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของเวียดนามมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน  

กล่าวได้ว่า ภายหลังจากที่ได้แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่หลังฉากเพื่อรอคอยโอกาสและบ่มเพาะตัวตนจนแข็งแกร่งเพียงพอในที่สุดจีนก็ได้ผงาดขึ้นมา  ทว่า การผงาดของจีนในครั้งนี้ช่างต่างกับสิ่งที่พวกเขามักจะกล่าวอ้างว่าเป็นการ “ทะยานขึ้นอย่างสันติ”  ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจากการดำเนินความสัมพันธ์กับบางประเทศในทวีปเอเชียได้เผยว่า พวกเขามิได้กระทำดังที่ได้กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด ในทางตรงข้ามพวกเขากำลังดำเนินกลวิธีแบบโบราณซึ่งบรรพชนของพวกเขาหลายชั่วคนได้เคยกระทำการตามแนวทางที่เรียกว่า “คบไกลตีใกล้” 

ในปี ค.ศ. 2012 จีนได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่เรือของฟิลิปปินส์ได้ขัดขวางมิให้เรือประมงของจีนล่วงละเมิดน่านน้ำและเข้าไปจับปลาในเขตที่ฟิลิปปินส์กำลังควบคุม จีนได้ใช้ช่วงจังหวะดังกล่าวเพื่อโหมกระพือให้เกิดเป็นข้อพิพาท และจากปัญหาเพียงน้อยนิด จีนก็ได้เติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งไต่ระดับขึ้นไปสู่การเผชิญหน้า  จากนั้น จีนได้ส่งเรือรบติดอาวุธเข้ามาปิดล้อมแนวปะการังสคาร์โบโร และในท้ายที่สุดแนวปะการังสคาร์โบโรก็ตกอยู่ในมือของพวกเขา

ต่อมาพวกเขาพยายามที่จะสร้างเกาะหินต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างผิดกฎหมาย ทั้งยังเสริมกำลังทางทหารเข้าไปเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นด่านหน้าสำหรับการขยายอำนาจของตนในทะเลตะวันออก

ปลายยอดของปัญหาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2014 เมื่อจีนได้นำแท่นสำรวจไห่หยาง 981 เข้าไปในพื้นที่ไหล่ทวีปของเวียดนาม  ในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากการตอบโต้ที่แข็งกร้าวของเวียดนามและประชาคมระหว่างประเทศในท้ายที่สุดจีนก็ได้ถอนตัวออกไป  กล่าวได้ว่า นโยบายของพวกเขานั้นคือการค่อย ๆ ยกระดับของปัญหาแต่ก็พยายามควบคุมมิให้ลุกลามไปเป็นข้อพิพาทที่รุนแรง และหลีกเลี่ยงการเสียหน้าในฐานะประเทศขนาดใหญ่เท่าที่จะทำได้  และนี่คือวิธีการและกลวิธีในการดำเนินการของจีน

การที่พวกเขาได้นำเรือสำรวจไห่หยาง 8 เข้ามาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของเวียดนาม สำหรับความเห็นของผมนั้นขั้นตอนต่อไปต่างหากที่อันตรายมากกว่า 

ในกรณีของแนวปะการังสคาร์โบโร จีนได้อ้างเหตุผลว่าฟิลิปปินส์ได้ทำการขัดขวางมิให้เรือประมงของจีนเข้าไปจับปลาในพื้นที่ดังกล่าว  จากนั้นจีนก็ได้นำเรือตรวจการณ์ทางทะเลเข้าไปแทรกแซงเพื่อทำการแย่งชิงและเข้ายึดครองพื้นที่  ในครั้งนี้พวกเขาได้นำเรือสำรวจและเรือคุ้มครองเข้ามาเป็นจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการในครั้งนี้มิได้มีเป้าหมายเพียงแค่การสำรวจทางทะเลเท่านั้น หากแต่จีนยังมีความประสงค์ที่จะคุกคามอธิปไตยของเวียดนามอีกด้วย

ผมคิดว่าหากเวียดนามและประชาคมระหว่างประเทศไม่แสดงออกซึ่งท่าทีที่เข้มแข็งและแข็งกร้าวอย่างที่เคยเป็น มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะใช้วิธีการที่พวกเขาได้เคยใช้กับฟิลิปปินส์ที่แนวปะการังสการ์โบโรดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว 

และถ้าหากว่าเราไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ผมคิดว่าไม่เพียงแต่แนวปะการังตือจิ๋ง (Vanguard Bank) เท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้จะลุกลามออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของทะเลตะวันออก  ประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ฯลฯ ก็จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

หากแต่ละประเทศไม่มีท่าทีที่แข็งกร้าวและเข้มแข็งอย่างเพียงพอ เมื่อนั้นทะเลตะวันออกก็จะถูกครอบงำโดยจีนและผลที่ตามมาจะมีความรุนแรงมาก

Đại sứ Trương Triều Dương: Từ Scarborough đến Tư Chính, nghĩ về bài học ứng xử với Trung Quốc ở Biển Đông - Ảnh 4.
จีนก่อสร้างสนามบินอย่างผิดกฎหมายบนพื้นที่แนวโขดหินจื๋อเถิบ (Fiery Cross Reef) หมู่เกาะหว่างซา (Paracel Islands) ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของเวียดนาม ภาพ: CSIS

ทะเลตะวันออกนั้นมีบทบาทสำคัญต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางทหาร  หากจีนสามารถควบคุมทะเลตะวันออกเอาไว้ได้ก็จะเป็นผลดีต่อจีนในการควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในเอเชีย

ทะเลตะวันออกมีความสำคัญอย่างยิ่ง และยังเป็นพิกัดภูมิยุทธศาสตร์ที่ไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญต่อประเทศและอาณาบริเวณโดยรอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่เอเชียตะวันออกและโลกอีกด้วย  ประการแรก เนื่องจากทะเลตะวันออกนั้นตั้งอยู่บนเส้นทางการเดินเรืออันเปรียบดังสายโลหิตสำคัญที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมทวีปยุโรปและเอเชีย เชื่อตะวันออกกลางและเอเชีย ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก  นอกจากนั้น ทะเลตะวันออกยังมีบทบาทสำคัญต่อเส้นทางการค้าทางทะเลทั่วโลก

บรรดาเกาะและหมู่เกาะภายนอกชายฝั่ง เช่น หมู่เกาะหว่างซา (Paracel Islands) และหมู่เกาะเจื่องซา (Spratly Islands) ล้วนตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางของหนึ่งในเส้นทางเดินเรือทะเลที่มีเรือเดินสมุทรสัญจรไปมาชุกชุมมากที่สุดในโลก  หมู่เกาะเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคทะเลตะวันออก  ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกทางด้านการสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานในพื้นที่ห่างใกลจากชายฝั่ง เช่น การควบคุมเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนใต้ การดำเนินกิจกรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร เช่น การก่อสร้างสถานีเรดาร์ สถานีข้อมูล และการก่อสร้างสถานีพักเรือ และจุดเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เรือเดินสมุทร ฯลฯ

สำหรับทรัพยากรธรรมชาติในทะเลตะวันออกนั้น สิ่งแรกที่ต้องกล่าวถึงคือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณสะสมจำนวนมาก  นอกจากนั้นยังมีแร่พลังงานที่สำคัญ อาทิ มีเทนคลาเทรต (Methane Clathrate) หรือน้ำแข็งไฟ  ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐประมาณการว่าน้ำแข็งไฟทั่วโลกมีจำนวนประมาณ 2,800,000 พันล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อเชื่อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติหมดลง น้ำแข็งไฟก็จะเข้ามาทดแทนพลังงานแบบเดิมเป็นระยะเวลาประมาณ 800 ปีหากคิดคำนวณตามปริมาณการใช้พลังงานธรรมชาติในปัจจุบัน

นอกจากนี้ จีนยังอาจกำลังมองหาธาตุหายากหรือธาตุแรร์เอิร์ทในทะเลตะวันออก  จากการสำรวจของบางประเทศพบว่าบริเวณก้นทะเลของทะเลตะวันออกมีแหล่งธาตุหายากจำนวนมากสะสมอยู่  ทั้งนี้ ธาตุหายากถือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีสูง

การที่จีนเป็นผู้ส่งออกธาตุหายากในปริมาณร้อยละ 95 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก จีนสามารถเปลี่ยนให้ธาตุหายากกลายเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิผลในสงครามการค้ากับส่วนอื่น ๆ ของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เป็นต้น

มีการคาดการณ์ว่า หากสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นจริงมันก็จะเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้โดยสาเหตุหลักก็คือการแย่งชิงการขุดค้นและนำใช้ธาตุหายากในบริเวณดังกล่าว  ถ้าหากจีนสามารถผูกขาดการครอบครองทะเลตะวันออกไว้ได้ก็หมายถึงการครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกที่มีธาตุหายากสะสมอยู่  ถ้าหากรูปการณ์เป็นเช่นนั้นก็เปรียบดังการที่พวกเขาสามารถควบคุมเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้  นี่คือเสียงเตือนที่ปลุกเร้าให้ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อป้องกันมิให้จีนกระทำการสิ่งใด ๆ ตามความพอใจของตนในพื้นที่ทะเลตะวันออก

02 .ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการ “ทะยานขึ้นอย่างสันติ” ของจีน

ประเทศจีนที่เติบโต เคารพกฎหมาย และมีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศจะได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากประชาคมโลก  กระนั้น จนกระทั้งปัจจุบัน อย่างน้อยความเป็นไปที่เกิดขึ้นในทะเลตะวันออกก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าจีนไม่สามารถดำรงตนได้ตามแบบอย่างที่ผู้คนคาดหวังได้  

แม้ว่าจีนจะระบุไว้เสมอว่าต้องการให้ทะเลตะวันออกเป็นพื้นที่แห่งความสงบสุขและมั่นคง แต่ก็ชัดเจนว่าการกระทำของพวกเขาขัดแย้งกับคำประกาศเหล่านั้นอยู่เสมอ ในโลกที่แบนราบทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถซุกซ่อนอะไรไว้ได้ทั้งนั้น  ด้วยพฤติกรรมที่จีนแสดงออกมาในอดีตนั้นจะผลให้พวกเขาจะต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำของตนเอง

ด้วยพฤติกรรมที่จีนแสดงออกมาในอดีตนั้นจะผลให้พวกเขาจะต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำของตนเอง

ประการแรก ในฐานะประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ จีนมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการรักษากฎหมายระหว่างประเทศ ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของโลกและภูมิภาค  แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขากลับใช้กำลังกดขี่ข่มเหงประเทศอื่นในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทะเลตะวันออก  เป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขามิได้ปฏิบัติตามพันธกิจและความรับผิดชอบที่มีต่อประชาคมโลก 

ประการที่สอง พวกเขาได้เหยียบย่ำลงบนกฎหมายระหว่างประเทศ  ในความเป็นจริง แนวปะการังตือจิ๋งนั้นตั้งอยู่ไกลจากจีนแผ่นดินใหญ่ถึงกว่า 600 ไมล์ทะเล  ดังนั้น ภายใต้บทบัญญัติของ UNCLOS บริเวณนี้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะและไหล่ทวีปของเวียดนามหาใช่เขตพิพาทแต่อย่างใด  ปัจจุบันเวียดนามกำลังควบคุมและใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้

ดังนั้น การที่จีนส่งเรือสำราจทางธรณีวิทยาไห่หยาง 8 และเรือคุ้มกันติดอาวุธไปยังแนวปะการังตือจิ๋งและยังลุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามจึงถือเป็นความจงใจในการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของเวียดนามอย่างโจ่งแจ้ง

ประการที่สาม พวกเขาได้ทำลายความศรัทธาของประเทศต่าง ๆ  จีนประกาศว่าจะ “ทะยานขึ้นอย่างสันติ” แต่กลับใช้กำลังบุกเข้ายึดครองพื้นที่แนวปะการังของฟิลิปปินส์ ทั้งยังใช้เรือสำรวจและเรือติดอาวุธเพื่อลุกล้ำเข้าไปในเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่า "การทะยานขึ้นอย่างสันติ" ยังคงยังคงดำรงอยู่ในทางปฏิบัติจริงหรือไม่?

กล่าวได้ว่า การที่ความไว้วางใจเสื่อมลงนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศใหญ่  การกระทำเยี่ยงนี้ได้บ่อนทำลายความเชื่อทางยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามและจีนเพราะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายจีนได้ฝ่าฝืนคำมั่นสัญญาระหว่างผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศในการที่จะพยายามรักษาสันติภาพ และความมั่นคง รวมถึงมิตรภาพในทะเลตะวันออก

นอกจากนี้ พฤติกรรมของจีนยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในทะเลตะวันออก (COC)  ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างก็เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการประกาศใช้แนวปฏิบัติในทะเลตะวันออก (COC) โดยเร็วที่สุด แต่ในทางกลับกัน ประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงหวาดระแวงต่อการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเจรจาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลตะวันออก (COC)  ในการเจรจานั้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือความไว้วางใจ  เมื่อความไว้วางใจลดลงก็จะเป็นอันตรายต่อกระบวนการเจรจาทั้งหมด

03. ประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับประเทศใหญ่ที่มักจะแสดงความก้าวร้าวด้วยการรังแกผู้อื่น

ในปี ค.ศ. 2016 ฟิลิปปินส์นำความขัดแย้งกับจีนไปยื่นฟ้องต่อศาลโลก และพยายามโต้แย้งข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลของจีนตามรายละเอียดในแผนที่ 9 เส้นประ นี่คือขั้นตอนที่ถูกต้องและชาญฉลาดของฟิลิปปินส์  ในฐานะประเทศเล็ก ๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับประเทศใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการทหารอย่างล้นเหลือ แต่กลับมีท่าทีที่มักจะออกไปรังควาญประเทศอื่น  แน่นอนว่านี่คือวิธีการที่ถูกต้องและควรนำมาใช้อย่างชัดเจน หลักการสำคัญคือจะต้องพึ่งพาอาศัยความคิดเห็นของประชาคมโลก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัตย์ซื่อและความเที่ยงธรรมของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของตน

ฟิลิปปินส์สามารถทำสำเร็จ  ผลลัพธ์นี้ได้สร้างแบบอย่างที่ดีสำหรับเราในการจัดการและสามารอ้างอิงตามแนวทางดังกล่าวเพื่อปกป้องอธิปไตยในทะเลตะวันออกและโต้แย้งกับแผนที่ 9 เส้นประที่ผิดกฎหมายของจีน  

เราพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยทางทะเลและบนพื้นดินกับประเทศต่าง ๆ โดยการเจรจาและการประนีประนอม  แต่หากสถานการณ์ยังคงเลวร้ายลง หากจีนไม่ละทิ้งการกระทำที่ก้าวร้าวและคุกคาม เวียดนามก็ไม่ควรที่จะหลีกเลียงการนำประเด็นนี้ไปสู่ศาลโลก 

ประเทศเล็ก ๆ เมื่อเผชิญหน้ากับประเทศใหญ่ต้องพึ่งพาชุมชนระหว่างประเทศโดยอาศัยกลไกทางกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีทรงประสิทธิภาพซึ่งประเทศเล็ก ๆ สามารถนำไปใช้ในการต่อสู้ การข่มขู่ และการละเมิดอธิปไตยของประเทศใหญ่

04. บทสุนทรพจน์ที่ยาวที่สุด

ในปี ค.ศ. 2016 ภายหลังจากการพิจารณาคดีของศาลโลก พวกเราได้เดินทางไปแสดงความยินดีกับเพื่อนบ้านของเรา แสดงความยินดีกับรัฐมนตรีต่างประเทศเดล โรสาริโอ และประธานาธิบดีอาควิโน

ต่อมา ผมได้รับเชิญไปที่สมาคมนายทหารระดับสูงเพื่อพูดคุยและอภิปรายถึงปัญหาความมั่นคงทางทะเล รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยในทะเลตะวันออก  ผมคิดว่านี่คือบทสุนทรพจน์ในต่างประเทศที่ยาวที่สุดของผมนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  

ทำไมจึงเชิญเอกอัครราชทูตเวียดนามไม่ใช่เอกอัครราชทูตคนอื่น?  กล่าวได้ว่า ทหารฟิลิปปินส์นั้นนับถือเวียดนามเป็นอย่างมากเพราะได้ดำเนินชีวิตอยู่ติดกับประเทศจีนมาเป็นเวลานับพันปี และมีความแข็งแกร่ง รวมถึงความไม่ย่อท้อต่อการกระทำของจีนที่ต้องการเข้าครอบครองเวียดนาม  พวกเขาต้องการถามเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตของเวียดนามในการตอบโต้กับจีนโดยเฉพาะในทะเลตะวันออก 

ผมยังได้แลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมาว่าทำไมเราถึงเอาชนะกองกำลังต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ายึดครองเวียดนาม  พวกเราชนะเพราะความร่วมใจของประชาชนทุกคน การต่อต้านการรุกรานของต่างประเทศของพวกเราคือการทำสงครามประชาชน  เราชนะเพราะสิ่งนั้น 

Đại sứ Trương Triều Dương: Từ Scarborough đến Tư Chính, nghĩ về bài học ứng xử với Trung Quốc ở Biển Đông - Ảnh 10.
ชาวเวียดนามเชื่อเสมอว่าอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และต้องได้รับการปกป้องโดยคนในชาติ และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติได้ แต่ไม่ควรพึ่งพาประเทศอื่น ๆ เป็นหลัก 

ผมยังเน้นด้วยว่า ชาวเวียดนามเชื่อเสมอว่าอำนาจอธิปไตยของชาตินั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และต้องได้รับการปกป้องโดยคนในชาติ และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติได้ แต่ไม่ควรพึ่งพาประเทศอื่น ๆ เป็นหลัก  เราสามารถพึ่งพาการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศได้ แต่เราก็ยังต้องพึ่งพาความเข้มแข็งของตนเองเป็นหลัก

จีนจะไม่ยอมล้มเลิกความต้องการของตนในทะเลตะวันออก  หากประเทศต่าง ๆ ยอมประนีประนอมจีนก็ยิ่งรุกล้ำเข้ามา  แต่ถ้าหากว่าเรายังคงแสดงออกอย่างแข็งกร้าวแล้วพวกเขาก็จะต้องถอยออกไป  กรณีของเหตุการณ์ไห่หยาง 981 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

จนถึงตอนนี้ เกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลตะวันออกนั้น เวียดนามเองก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและได้ตอบโต้อย่างชาญฉลาดและเหมาะสม  พวกเราได้ช่วยให้ชุมชนระหว่างประเทศได้เข้าใจถึงปัญหาอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยได้ส่งเสียงเตือนไปยังทุกประเทศในทะเลตะวันออกว่าภูมิภาคของเรากำลังเผชิญภยันตรายอันใหญ่หลวงจากประเทศจีน หาใช่ความสงบสุขและสันติภาพดังที่พวกเขาได้พร่ำบอกอยู่เสมอ  ในทางกลับกันเราก็ได้ควบคุมการกระทำของตนโดยมิปล่อยให้ความตึงเครียดไต่ระดับขึ้นไปเพื่อสร้างข้ออ้างสำหรับจีนได้นำไปใช้ในการดำเนินการอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อเรา

ในอีกแง่หนึ่ง พวกเราจะต้องมุ่งมั่นที่จะต่อสู้อย่างเข้มแข็งและใช้ประโยชน์จากเวทีสนทนาต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้จีนเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของพวกเรา แต่วิธีการแสดงออกจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชาญฉลาดเพื่อมิให้ข้อพิพาทกลายเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเผชิญหน้าที่ร้อนแรงยิ่งขึ้น

ข่าวมาจาก Trí Thức Trẻ
Suriya Khamwan แปล
Share :
Từ khóa:
Other news
Gửi thảo luận trên Facebook