Toggle navigation
ข่าวเวียดนาม:ปัญหาและอุปสรรคในการกำหนดขอบเขตพื้นที่นอกเขตไหล่ทวีปของเวียดนามท่ามกลางการต่อต้านของจีน
08/08/2019 | 10:13 GMT+7
Share :
บทนำ เมื่อ 10 ปีก่อน เวียดนามได้นำเสนอรายงานการกำหนดขอบเขตพื้นที่นอกเขตไหล่ทวีปไปยังองค์การสหประชาชาติเพื่อยืนยันถึงความชอบธรรมในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และการปกป้องสิทธิของเวียดนามบนพื้นที่ภายนอกขอบเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล  ในโอกาสนี้ หนังสือพิมพ์ Trí thức trẻ จึงขอนำเสนอบทความของคุณเหงียนกวางโบะ (Nguyễn Quang Bộ) อดีตรองผู้อำนวยการบริษัทสำรวจและนำใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันก็คือบริษัท PVEP โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอาณาเขตทางทะเลของประเทศเวียดนามซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ 
Gian nan hành trình xác định ranh giới ngoài thềm lục địa Việt Nam trước sự cản phá của TQ

จีนกระทำการยั่วยุและขัดขวางตลอดเวลา

หากอ้างอิงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และข้อบังคับของคณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีป (Commission on the Limits of the ContinentaL Shelf : CLCS) ขององค์การสหประชาชาติแล้วนั้น เวียดนามจัดเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับทะเลอันมีขอบเขตของไหล่ทวีปเลยออกไปจากระยะทาง 200 ไมล์ทะเลโดยนับจากเส้นฐาน (baseline sea) แห่งทะเลอาณาเขต

อย่างไรก็ดี ลักษณะดังกล่าวจำต้องอ้างอิงถึงหลักฐานทางด้านธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน ความลึกของชั้นตะกอน ฯลฯ ที่ปรากฏในเอกสารรายงานของประเทศโดยมิอาจจะอ้างอิงได้ด้วยปากเปล่า 

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้แต่ละประเทศจัดส่งรายงานการสำรวจของตนภายในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 และถ้าหากมิได้ส่งรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือเป็นการสละสิทธิในการครอบครองพื้นที่ซึ่งเลยออกไปจากไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล  ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้จัดทำและจัดส่งรายงานดังกล่าวไปยังองค์การสหประชาชาติ  

จากนั้น คณะกรรมการเขตแดนภายใต้กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้บริษัทสำรวจและการนำใช้ก๊าซธรรมชาติ (PetroVietnam Exploration Production Corporation - PVEP) เป็นผู้วางแผนและดำเนินการสำรวจทางด้านธรณีวิทยาเพื่อกำหนดส่วนของพื้นที่ทางทะเลที่ขยายออกไปภายนอกพื้นที่ทะเลอาณาเขตของประเทศเวียดนาม

จากนั้น ในปี ค.ศ. 2006 บริษัท PVEP ได้แต่งตั้งคณะทำงานภายใต้นามเรียกขานว่า Team CSL-07 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายสำรวจ เช่น คุณเหงียนซูฮึง (Nguyễn Du Hưng) คุณกู่มิงหว่าง (Cù Minh Hoàng) คุณหว่างเหวียดแบ๊ก (Hoàng Việt Bách) และจากฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาทิ คุณเหงียนเจื่องแท็ง (Nguyễn Trường Thanh) รวมถึงตัวผมเองและพี่น้องในบริษัทอีกจำนวนหนึ่งได้ร่วมมือกับคุณหวิ่งมิง จิ๋ง (Huỳnh Minh Chính) อธิบดีกรมทะเล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมการเขตแดนเวียดนามได้ทำการกำหนดแผนดำเนินการซึ่งพวกเราตั้งชื่อว่า CSL-07 (Continental Shelf Limit 2007) ให้ดำเนินการสำรวจด้วยวิธีการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ ระยะทางประมาณ 7,000 กิโลเมตรเพื่อสำรวจค่าแรงโน้มถ่วง ความลึกของน้ำทะเล  จากนั้นได้นำเสนอข้อมูลให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ  นอกจากนั้นยังได้มีการว่าจ้างเรือสำรวจและประมวลผลของสหภาพธรณีฟิสิกส์ทะเลเหนือ (SMNG) ของรัสเซียซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองท่ามูร์มันสค์ (Murmansk) เพื่อการสำรวจในโครงการนี้อีกด้วย  

ในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 2007 คุณเหงียนซูฮึง (Nguyễn Du Hưng) คุณเหงียนเจื่องแท็ง (Nguyễn Trường Thanh) คุณด่าวกวางอาน (Đào Quang An) รวมถึงตัวผมเองได้เดินทางไปที่เมืองท่ามูร์มันสค์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของรัสเซียเพื่อทำการลงนามในสัญญาฉบับที่ PVEP – EXP/TC.06.001 กับสหภาพธรณีฟิสิกส์ทะเลเหนือ (SMNG)  และในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 พวกเราได้เดินทางไปที่มูร์มันสค์อีกครั้งหนึ่งเพื่อลงนามในสัญญาผนวกฉบับที่ Addenum Nr.1 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการไหวสะเทือนตามขั้นตอนการสำรวจที่ได้กำหนดไว้ในแผนดำเนินการ CSL – 07

Gian nan hành trình xác định ranh giới ngoài thềm lục địa Việt Nam trước sự cản phá của TQ - Ảnh 3.
การเจรจาและลงนามกับผู้บริหารสหภาพธรณีฟิสิกส์ทะเลเหนือ (SMNG) ณ เมืองท่ามูร์มันสค์เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 2007 เรือสำรวจ "Polshkov" ของ SMNG ได้ออกเดินทางจากเมืองญาจางเพื่อเริ่มทำการสำรวจ  ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.2007 เมื่อการสำรวจในเที่ยวแรกเพิ่งทำการเก็บข้อมูลการไหวสะเทือนได้เพียง 2,144 กิโลเมตร ฝ่ายจีนได้ระดมเรือและเครื่องบินเพื่อทำการก่อกวนและขัดขวางมิให้เรือ “Polshkov” สามารถทำการสำรวจต่อไปและต้องยุติการสำรวจในเบื้องต้น 

จากนั้น PVEP และ SMNG จึงได้ตกลงที่จะยุติสัญญาการสำรวจภาคสนามตามแผนดำเนินการ CSL-07 ระยะที่ 1 และได้บรรลุข้อตกลงที่จะนำเรือ "Polshkov" ไปสำรวจที่ล็อต 05.1.bc ให้แก่บริษัท "Idemitsu" ของญี่ปุ่นและในเวลาเดียวกันก็ได้เร่งดำเนินการจัดหาเรือลำใหม่เพื่อสานต่อแผนการสำรวจต่อไป  ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ผมได้เกษียรจากตำแหน่งงานตามวาระ อย่างไรก็ตาม เพื่อนร่วมทีมงานใน "ทีม CSL-07" ยังคงสานต่อภารกิจการทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2008 เรือ "Northern Explorer" ของบริษัท “PGS” ประเทศนอรเวย์ที่ว่าจ้างโดย PVEP ได้ทำการสำรวจตามแผนดำเนินการ CSL-07 ระยะที่ 2 ในพื้นที่ทางด้านตะวันออกของบริเวณแอ่งฝูแข็ง (Bồn trầm Phú Khánh) ที่ได้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า CSL-08

สำหรับกลยุทธ์การระเบิดเพื่อวัดค่าความสั่นสะเทือนในครั้งนี้ พี่น้องทีมงานของเราได้ดำเนินการด้วยความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเล  กล่าวคือ ถ้าหากจีนปิดกั้นเส้นทางสายนี้เราก็จะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ถ้าหากจีนปิดกั้นในเขตตอนเหนือเราก็จะเคลื่อนย้ายลงไปทางใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจได้เพียง 4,600 กม. หรือประมาณร้อยละ 75 ของปริมาณงานทั้งหมด จีนก็ได้ระดมเรือจำนวน 5 ลำเพื่อขัดขวางและทำการตัดสายเคเบิลวัดแรงสั่นสะเทือน และเป็นอีกครั้งที่เราต้องยุติการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว
 
ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการสำรวจที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 25 ตามแผนดำเนินการ CSL-08 ด้วยเหตุนี้ PVEP จึงได้ลงนามในสัญญากับบริษัท "Wavefield" ของสิงคโปร์เพื่อนำเรือ "Bergen Surveyor" เข้าไปสำรวจค่าการสั่นสะเทือนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2018 แต่ภายหลังจากนั้นเพียง 5 วัน การสำรวจก็ต้องยุติลงอีกครั้งเนื่องจากการต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายจีน

กล่าวได้ว่า จากประสบการณ์ทำงานทางด้านการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนเองไม่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนเมื่อพวกเราสามารถทำการสำรวจในระยะที่ 2 ได้ 4,870 กม. และระยะแรก2,144 กม. รวมปริมาณงานประมาณ 7,000 กม. หากแต่ได้ใช้ระยะเวลาในการสำรวจที่ยาวนานถึง 2 ปี และต้องเปลี่ยนเรือสำรวจถึง 3 ครั้งเนื่องจากการขัดขวางจากฝ่ายจีน    

ผมคิดว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เวียดนามสามารถสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่เป็นกลาง ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อจัดทำรายงานนำเสนอแก่องค์การสหประชาชาติได้ตามระยะเวลาที่กำหนด  เมื่อเข้าใจถึงเหตุและผลดังกล่าวแล้วก็ทำให้พวกเรามีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นเพื่อให้การสำรวจประสบความสำเร็จและถือเป็นชัยชนะของพวกเรา  

สำหรับเอกสาร CSL-07 ระยะที่ 1 นั้นได้ทำการประมวลผลโดย SMNG ณ เมืองท่ามูร์มันสค์  ส่วนเอกสาร CSL-08 ระยะที่ 2 ก็ได้ทำการประมวลผลที่ศูนย์ประมวลผล "Fairfield Vietnam" ของบริษัท PVN  ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจได้ถูกประมวลผลโดยแบ่งออกเป็นสองชั้น ได้แก่ ชั้นสะท้อนด้านบนซึ่งตรงกับระดับบนสุดของชั้นตะกอนหรือก้นทะเล (Seabed) และชั้นฐานเสียงที่สอดคล้องกับระดับก้นตะกอน (Base-Sediment)
จากการประมวลผลดังกล่าวทำให้สามารถคำนวณหาค่าความหนาของชั้นตะกอนซึ่งมีส่วนช่วยในการกำหนดขอบเขตของชั้นไหล่ทวีปให้มีความแม่นยำถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ  จากนั้น PVEP ได้จัดส่งเอกสารทั้งหมดให้แก่คณะกรรมการเขตแดนเพื่อจัดทำเป็นรายงานแห่งชาติเพื่อนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป
 
Gian nan hành trình xác định ranh giới ngoài thềm lục địa Việt Nam trước sự cản phá của TQ - Ảnh 4.
แผนภาพแสดงให้เห็นถึงการกำหนดเส้นพื้นฐาน ทะเลอาณาเขต พื้นที่เชื่อมต่อของทะเลอาณาเขต เขตสิทธิจำเพาะ EEZ และ TLD  น่านฟ้าแห่งชาติ และน่านฟ้าสากล ภาพถ่ายโดย: NVCC

ผมได้รับทราบมาว่า จากการอ้างอิงสภาพทางธรรมชาติ ข้อกำหนดทางด้านการเมือง และข้อกฎหมายระหว่างประเทศ เวียดนามได้กำหนดพื้นที่ไหล่ทวีปเลยออกไปจากขอบเขต 200 ไมล์ทะเล และได้แบ่งอาณาเขตทางทะเลออกเป็นสามส่วน คือ พื้นที่ตอนเหนือเหนือซึ่งจากลักษณะทางธรรมชาตินั้นจะต้องลากเส้นเขตไหล่ทวีปออกไปทางทิศตะวันออก  สำหรับพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้นั้นเป็นพื้นที่ซึ่งมีแนวยาวตามธรรมชาติของไหล่ทวีปยื่นออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามลักษณะภูมิประเทศของเวียดนาม 

รายงานแห่งชาติของเวียดนาม

สำหรับรายงานฉบับพื้นที่ตอนใต้นั้นเราได้จัดทำร่วมกับมาเลเซีย และได้รายงานไปยังองค์การสหประชาชาติเพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของเวียดนามเหนือพื้นที่ไหล่ทวีปที่เลยออกไปมากกว่า 200 ไมล์ทะเล ซึ่งการดำเนินการสำรวจนั้นเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจจำเพาะ EEZ และไหล่ทวีป 

ทั้งนี้ เนื้อหาหลักในรายงานแห่งชาติของเวียดนามนั้นประกอบด้วย: 

- การยืนยันอำนาจอธิปไตยของเวียดนามเหนือหมู่เกาะหว่างซา (Hoàng Sa) และ เจื่องซา (Trường Sa)  สำหรับรายงานร่วมระหว่างเวียดนาม - มาเลเซียนั้นทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกำหนดพื้นที่ไหล่ทวีปมากกว่า 200 ไมล์ทะเลที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองประเทศโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ
- การยืนยันอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจศาลของประเทศเหนือพื้นที่ทางทะเลและไหล่ทวีปซึ่งถูกกำหนดไว้ภายใต้อนุสัญญา 1982  การปฏิบัติตามอนุสัญญา 1982 และเคารพสนธิสัญญาระหว่างประเทศและข้อตกลงที่มีการลงนามและมีผลบังคับใช้ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

- การจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีปซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่ซึ่งเลยออกไปจากไหล่ทวีปในเขต 200 ไมล์ทะเล และการที่คณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีปขององค์การสหประชาชาติได้พิจารณาบทรายงานดังกล่าวมิได้สังผลกระทบต่อปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับอธิปไตยทางทะเลและหมู่เกาะ รวมถึงการกำหนดอาณาเขตทางทะเลระหว่างเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในภายหลัง

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 คณะผู้แทนเวียดนามประจำองค์การสหประชาชาติได้ร่วมมือกับคณะผู้แทนมาเลเซียในการส่งรายงานร่วมระหว่างเวียดนามและมาเลเซีย และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 เวียดนามได้ทำการจัดส่งรายงานของตนเองในพื้นที่ทางทะเลภาคเหนือก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 2009

คณะเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีปได้รับและทำการบรรจุรายงานร่วมระหว่างเวียดนามและมาเลเซีย และรายงานฉบับที่จัดทำโดยเวียดนามไว้ในเว็บไซต์ขององค์การสหประชาชาติโดยทันที  

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 คณะผู้แทนจีนประจำองค์การสหประชาชาติได้ส่งเอกสารทางการทูตไปยังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเพื่อประท้วงรายงานทั้งสองฉบับ โดยเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีปไม่พิจารณารายงานทั้งสองฉบับ และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีการเรียกร้องสิทธิในทะเลตะวันออกตาม “แผนที่เส้นประ 9 เส้น" หรือ "แผนที่ลิ้นวัว" อย่างเป็นทางการ 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 คณะผู้แทนเวียดนามได้ยื่นเอกสารทางการทูตเพื่อประท้วงเอกสารของจีนและยืนยันอำนาจอธิปไตยของเวียดนามเหนือพื้นที่เกาะหว่างซา (Hoàng Sa) และ เจื่องซา (Trường Sa) รวมถึงได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องตาม "แผนที่เส้นประ 9 เส้น" และทักท้วงว่านี่คือข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผล มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมาย ขาดความเชื่อมโยงกับบริบททางด้านประวัติศาสตร์ และข้อเท็จจริง 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.2009 เวียดนามและมาเลเซียได้ร่วมกันนำเสนอรายงานร่วมระหว่าง 2 ประเทศ จากนั้น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2009 เวียดนามได้นำเสนอรายงานเฉพาะของตนเองต่อคณะกรรมาธิการกำหนดขอบเขตไหล่ทวีปองค์การสหประชาชาติ

ระยะเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว บัดนี้เป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว นับตั้งแต่คณะทำงาน CSL-07 ของบริษัท PVEP ได้ร่วมมือกับกับคณะกรรมการเขตแดนกระทรวงการต่างประเทศได้เริ่มต้นดำเนินงาน จากนั้นในช่วงระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 2007 - 2008 คณะทำงานได้พยายามฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการโดยสามารถเอาชนะการขัดขวางอย่างรุนแรงของจีนได้สำเร็จเพื่อให้การดำเนินการวัดค่าความสั่นสะเทือนเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ซึ่งเลยออกไปจากไหล่ทวีปของเวียดนามประสบความสำเร็จ 

บัดนี้ ทั้งคุณด่าวกวางแอ็ง (Đào Quang Anh) คุณเหงียนซูฮึง (Nguyễn Du Hưng) และตัวผมเองต่างก็ได้เกษียณอายุ  นอกจากนั้นยังได้ทราบว่าคุณหวิ่งมิงจิ๋ง (Huỳnh Minh Chính) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำเนเธอร์แลนด์นั้นก็ได้เกษียรอายุราชการแล้ว 

เมื่อหวนรำลึกถึงความหลังก็พบว่าภาคส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเวียดนามนั้นก็มีส่วนสำคัญต่อการปกป้องอธิปไตยทางทะเลอันศักดิ์สิทธิ์ของปิตุภูมิ และต่อต้านความทะเยอทะยานของจีนในการครอบครองพื้นที่ทะเลตะวันออกเอาไว้ได้   

Tri Thức Trẻ
Suriya Khamwan แปล
Share :
Từ khóa:
Other news
Gửi thảo luận trên Facebook